ประเภทของการล่าม

วันนี้มีผู้จ้างรายหนึ่งติดต่อเข้ามาเพื่อให้ไปทำหน้าที่ล่ามสัปดาห์หน้า พอสอบถามเนื้องานได้ความว่าให้ไปแปลให้กับซุปเปอร์ไวเซอร์ชาวญี่ปุ่นตอนรับการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย ก่อนที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทลูกค้า พอถามว่าจะมีการเว้นช่วงให้ล่ามแปลไหม ผู้จ้างตอบว่าคนสอนเขาจะสอนเป็นภาษาไทยโดยที่ไม่มีการเว้นช่วงให้ล่ามแปล

ผมจึงต้องชี้แจงให้ลูกค้าฟังว่าการล่ามนั้นแบ่งออกเป็นคร่าวๆ 3 ประเภทคือ

  1. ล่ามพูดตาม คือ เมื่อผู้พูดหยุดพูดล่ามถึงจะแปล และเมื่อล่ามหยุดแปลผู้พูดก็พูดต่อ
  2. ล่ามกระซิบ คือ การแปลโดยที่ไม่ต้องให้ผู้พูดหยุดพูด แต่เนื้อหาการแปลที่ได้จะไม่ครบถ้วน เพราะมีสิ่งรบกวนหลายอย่าง ทำให้ต้องแปลแบบสรุปใจความ
  3. ล่ามพูดพร้อม คือ การแปลโดยที่ไม่ต้องให้ผู้พูดหยุดพูด และได้เนื้อหาที่ครบถ้วนเกือบจะทั้งหมด เพราะมีอุปกรณ์ช่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้เก็บเสียง หรือชุดหูฟัง

จึงเป็นอันว่าผมและผู้จ้างเข้าใจตรงกันว่า เขาต้องการล่ามประเภทล่ามกระซิบ ผมจึงแจ้งอัตราค่าจ้างกรณีของล่ามกระซิบไปให้ฟัง เขารู้สึกตกใจมาก ผมจึงถามเขาไปตรงๆ ว่าคุณมีงบประมาณเท่าไหร่ หรือคุณต้องการจ้างในอัตราค่าจ้างเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าก่อนหน้านี้เคยจ้างล่ามผ่านบริษัทนายหน้า มาครั้งนี้นายของเขาที่เป็นคนญี่ปุ่นต้องการจ้างล่ามในราคาที่ถูกลง จึงให้ติดต่อโดยตรงไปที่ล่ามเพื่อที่จะได้ราคาที่ถูกกว่า

หากทำใจให้เป็นกลางแล้วลองพิจารณาดูดีๆ จะพบว่าหากระยะเวลาทำงานเท่ากัน (สมมุติว่า 8 ชั่วโมง) เวลาที่ล่ามแต่ละประเภทต้องทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การฟัง หรือ การพูด ก็แตกต่างกันไปดังนี้คือ

  • ล่ามพูดตาม : ฟัง 4 ชั่วโมง และ พูด 4 ชั่วโมง
  • ล่ามกระซิบ : ฟัง 8 ชั่วโมง และ พูดมากกว่า 4 ชั่วโมง
  • ล่ามพูดพร้อม : ฟัง 8 ชั่วโมง และ พูดเกือบ 8 ชั่วโมง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าค่าจ้างของล่ามแต่ละประเภทแตกต่างกันไปดังนี้คือ

  • ค่าจ้างล่ามกระซิบ สูงกว่า ค่าจ้างล่ามพูดตาม
  • ค่าจ้างล่ามพูดพร้อม สูงกว่า ค่าจ้างล่ามพูดตาม ถึง 2 เท่า
  • เรียงลำดับปริมาณงานและระดับค่าจ้างได้ดังนี้ ล่ามพูดตาม=>ล่ามกระซิบล่าม=>พูดพร้อม

ใส่ความเห็น